วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นิพ พา นํ ปร มํ สุ ขํ

คําของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโลที่กล่าวไว้ว่า

จิตคือพุทธะ

ซึ่งหมายความว่า

จิตเอง หรือจิตเดิมแท้ๆ ก่อนจะพอกพูนด้วยกิเลส นั่นละที่คือสภาพจิตพุทธะ หรือนิพพาน

หรือ

ดังที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้กล่าวไว้

จิตของคนเราเป็นของใสสะอาดมาแต่เดิม เหตุนั้นขัดเกลากิเลสออกหมด

มันจึงเห็นความใสสะอาด จึงเรียก ปภสฺสรมิท จิตฺต



ทั้งปวงล้วนมีความหมายเดียวกันทั้งสิ้น หรือนิพพานก็คือ จิตที่ไม่มีสิ่งปัจจัยปรุงแต่งของกิเลสอันเกิดแต่อุปาทานอันเกิดแต่ตัณหา, อันเป็นธรรมชาติของจิตหรือจิตเดิมแท้ก่อนถูกกิเลสปรุงแต่ง หรือก็คือ จิตที่หยุดคิดนึกปรุงแต่งและหยุดความกระวนกระวายแสวงหาด้วยความทะยานอยากหรือยึด อันหมายความว่า นิพพานหรือจิตเดิมแท้นั้นมีอยู่ในจิตหรือตัวตนตลอดเวลา ในขณะที่เรามัวแสวงหา สาระวนปฏิบัติค้นหาจากเหตุปัจจัยภายนอกต่างๆ, โดยการพยายามหา ทําให้เกิด ทําให้มี ทําให้เป็น จากการปฏิบัติต่างๆชนิด ก่อให้เกิด ก่อให้เป็น จากสิ่งปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น การค้นหาและปฏิบัติแต่ทางสมาธิ, ฌาน, วัตถุ, บุคคล หรือการทรมานกายใดๆ, ถือแต่ศีล ทําแต่บุญ ฟังแต่ธรรม อันล้วนแล้วแต่เป็นสังขารการพยายามทําให้เกิด ให้มี ให้เป็นทั้งสิ้น ล้วนแต่ขาดการนำเอาไปใช้เป็นบาทฐานในการปฏิบัติเพื่อที่จะนําออกหรือละเสียซึ่งกิเลสหรือสิ่งที่บดบังหรือครอบงํานั้นๆออกไป, ดังนั้นจึงพยายามหาหรือพยายามทําให้เกิดเท่าไรก็ไม่ประสบผลสําเร็จ อันอุปมาดั่งไล่จับเงา ที่ย่อมไม่มีวันประสบผลสําเร็จตลอดกาลนาน, เพราะสภาวะนิพพานที่เรามีนั้นเหมือนดั่งเงา เราไม่เข้าใจ จึงปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงหมองหม่นอับแสงเพราะปัจจัยเครื่องปรุงแต่งต่างๆ อันได้แก่กิเลสตัณหาและอุปาทาน อันต่างล้วนเป็นเหตุปัจจัยอันเนื่องให้เกิดอุปาทานขันธ์๕ อันเป็นความทุกข์ในเบื้องปลายเป็นที่สุด

ดังนั้นจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติก็คือการกำจัดกิเลสตัณหาอุปาทานอันจรมาจากอาสวะกิเลสนั่นเอง มิได้เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดให้มีขึ้นแต่ประการใด เพราะเขามีของเขาโดยธรรมหรือธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่หมองหม่นอับแสงสิ้นดีเนื่องเพราะอวิชชา

หรือที่หลวงปู่ดูลย์ได้กล่าวไว้ว่าในเรื่อง จิต คือ พุทธะ "เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเอง เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหา(ตัณหา) เสียเท่านั้น พุทธะก็ปรากฎตรงหน้าเขา เพราะว่า จิต นี้คือ พุทธะ นั่นเอง และพุทธะ คือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง และสิ่งๆนี้ เมื่อปรากฎอยู่ที่สามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฎอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่"

การหยุดคิดปรุงแต่ง ก็เพื่อเป็นการปฏิบัติไม่ให้เกิดเวทนา..อันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา..อันเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน..อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส(เป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง), หมดความกระวนกระวายเพราะความแสวงหา(ตัณหา)

นิพพานจึงไม่ต้องทําให้เกิดขึ้น หรือสร้างขึ้นแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัย เพียงแต่เป็นการนําเหตุปัจจัยอันทําให้จิตหม่นหมองนั้นออกไป หมายถึงจิตเดิมแท้ๆนั้นบริสุทธิ์อยู่แล้ว การนําออกและละเสียซึ่งกิเลสตัณหาไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดนิพพาน เพราะดังที่กล่าวนิพพานไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัย แต่เป็นเพียงคําอธิบายแนวทางปฏิบัติให้พบจิตเดิมแท้อันขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะเหตุปัจจัยจากภายนอก เช่นการความคิดนึกปรุงแต่งอันเป็นเหตุปัจจัยภายนอก อันเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา,อันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา..อุปาทาน..ภพ..อุปาทานทุกข์..และกิเลสตามลําดับตามวงจรปฏิจจสมุปบาท อันต่างล้วนจริงๆแล้วเป็นเหตุปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบสัมผัสกับจิตเดิมแท้ที่ปภัสสรแล้วเกิดการคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ

การปฏิบัติใดๆที่เป็นการก่อ หรือสร้างสมสิ่งหนึ่งสิ่งใดเช่นสมาธิ ฌาน ถือศีล หรือทําบุญ อิทธิฤทธิ์ ทรมานกาย จึงยังไม่ใช่หนทางการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง บางข้อเป็นเพียงบาทฐานหรือขุมกําลังหรือเป็นขั้นบันไดในการสนับสนุนการปฏิบัติในขั้นปัญญาเท่านั้น, อันควรจักต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องด้วย อันจักต้องเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดนิพพิทาเพื่อการนำออกสิ่งที่ทำให้เกิดการขุ่นมัวออกไปเท่านั้น

จักต้องเป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญาเท่านั้น อันมีบาทฐานของศีล สติ สมาธิเป็นเครื่องส่งเสริม เพื่อนําออกและละเสียซึ่งความคิดนึกปรุงแต่งอันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหาอันล้วนเป็นปัจจัยที่ยังให้เกิดอุปาทาน, ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสิ่งปรุงแต่งต่อจิตพุทธะหรือจิตเดิมทั้งสิ้น, จึงเป็นหนทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริงและถาวร จึงมิใช่การปฏิบัติโดยการเมาบุญหรือฌานสมาธิแต่ฝ่ายเดียว

ดังนั้นเมื่อ นําออก และ ละเสีย ซึ่ง กิเลส, ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้ดับความทุกข์หรืออุปาทานขันธ์๕ ตามมา เมื่อนั้น

"นิพพานอันเป็นสุข ที่ถูกบดบังซ่อนเร้นอยู่ในจิตเดิมหรือธรรมชาติ ก็จักปรากฏขึ้น"

อันล้วนเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น