วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

หลวงพ่อ ชา

ประวัติหลวงพ่อชา

ฟังหลักธรรมหลวงพ่อชา

พระโพธิญาณเถร นามเดิมว่า ชา ช่วงโชติ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑ ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอ วารินชำราบ จังหวัด อุบลราชธานี ตามประวัติท่านมีจิตฝักใฝ่ธรรมมาแต่เด็กบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๗๔ ได้ ๓ พรรษา แล้วก็ลาสิกขาอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ออกศึกษาปริยัติต่างถิ่นโดยเริ่มที่วัดสวนสวรรค์ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี การที่ท่านบวชแต่เยาว์วัยยังผลให้ท่านมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทางโลกเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๑

หลวงพ่อชาเป็นผู้สนใจธรรมมาก ท่านมีความปรารถนาอยากรู้แจ้งเห็นจริงตามคำสอนของพระพุทธองค์ จึงเริ่มศึกษาธรรมจากสำนักต่าง ๆ หลายสำนักระยะแรกในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖ ศึกษาปริยัติธรรมกับพระมหาแจ้ง วัดเค็งใหญ่ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี และพระครูอรรถธรรมวิจารณ์ วัดหนองหลัก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ปี ๒๔๘๖ เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรม หลวงพ่อชาสิ้นภาระห่วงใย มองเห็นความเป็นอนิจจังของชีวิต หลังจากสอบนักธรรมเอกได้เกิดเบื่อหน่ายด้านปริยัติ พิจารณาว่าไม่ใช้ทางพ้นทุกข์ ประสงค์จะศึกษาด้านวิปัสสนาธุระบ้าง จึงออกธุดงค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อค้นหาอาจารย์ที่จะสอนด้านวิปัสสนาธุระ โดยระยะแรกมุ่งหน้าไปจังหวัดสระบุรี-ลพบุรี ที่ลพบุรีมุ่งตรงมาที่สำนักวัดป่าของหลวงพ่อเภา แต่น่าเสียดายที่หลวงพ่อเภามรณภาพเหลือแต่อาจารย์วันลูกศิษย์ จึงได้แต่ศึกษาระเบียบข้อปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาวางไว้ และจากอาจารย์วัน อาจารย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง คืออาจารย์ชาวเขมร (ซึ่งธุดงค์จากเขมรมาไทย และมุ่งไปพม่า) เป็นผู้วางหลักแนวทางปฏิบัติโดยใช้หนังสือ บุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา ซึ่งแต่งโดยพระอมรมภิรักขิต (เกิด) ในคณะธรรมยุตินิกาย หลวงพ่อชาจึงได้ใช้หนังสือบุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในวัดหนองป่าพงและสาขามาจนทุกวันนี้

ปี ๒๔๙๐ หลังจากจำพรรษาที่เขาวงกต อยู่ได้หนึ่งพรรษา ได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) เป็นผู้มีคุณธรรมสูงทั้งเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชนเคารพเลื่อมใสมาก จึงเดินทางมาที่วัดหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครวันแรกย่างเหยียบเข้าสำนัก เห็นบริเวณร่มรื่น ปฏิปทาของพระภิกษุเคร่งครัดเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่มั่นได้เทศนาสั่งสอนเกี่ยวกับหลักธรรม อาทิศีลนิเทศ ปัญญานิเทศ พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้แก่หลวงพ่อชาและศิษย์จนเป็นที่พอหายสงสัย สิ่งที่น่าสังเกตคือหลวงปู่มั่นไม่มีความคิดที่จะให้หลวงพ่อชาแปลงนิกายเป็นธรรมยุติกาย ท่านให้ข้อชี้แจ้งเป็นปรัชญาคมคายว่าในความเป็นภิกษุที่แท้จริงไม่ได้มีนิกาย ทั้งหมดคือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ดังคำกล่าวของหลวงปู่มั่นต่อหลวงพ่อชาว่า “ ไม่ต้องสงสัยนิกายทั้งสอง ” หลังจากฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชามีจิตอิ่มเอิบ เป็นสมาธิ และได้ยึดคำสอนปฏิปทาของท่านไว้เป็นแนวปฏิบัติต่อไปองค์ที่ตรัสว่า “ ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก ” ดังนั้นไม่ว่าจะทำกิจวัตรอันใด เช่น กวาดวัด จัดที่ฉันล้างบาตร นั่งสมาธิ ตักน้ำ ทำวัตร สวดมนต์ เดินจงกรม ในระหว่างวันพระถือเนสัชชิไม่นอนตลอดคืน หลวงพ่อชาลงมือทำเป็นตัวอย่างของศิษย์โดยถือหลักว่า “ สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ ” ดังนั้นศิษย์และญาติโยมจึงเกิดความเลื่อมใสเคารพยำเกรงในปฏิปทาที่หลวงพ่อดำเนินอยู่

ในระยะแรกของการมาอยู่ป่าพงค่อนข้างลำบาก ชาวบ้าน ญาติโยมผู้ศรัทธาเข้ามาสร้างวัดเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ให้ได้อาศัย ไข้ป่าชุกชุม เพราะเป็นป่าทึบ เมื่อเจ็บป่วยยารักษาก็หายาก โยมอุปัฏฐากยังน้อย อาหารการกินฝืดเคือง แต่กระนั้นหลวงพ่อก็ไม่เคยออกปากของญาติโยม แม้จะเลียบเคียงก็ยังไม่ยอมทำ ปล่อยให้ผู้พบเห็นพิจารณาด้วยตนเอง เดือนต่อมาเกิดสำนักชีขึ้นที่วัดเพื่อสนองคุณต่อโยมมารดาให้ได้ปฏิบัติธรรม โยมแม่พิมพ์จึงเป็นแม่ชีคนแรกของวัดหนองป่าพง และมีแม่ชีติดต่อกันมาถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมากและทางวัดมีการแบ่งเขตสงฆ์เขตชีไว้เรียบร้อยไม่ก้าวกายปะปนกัน

วัดหนองป่าพงได้รับอนุญาตให้สร้างในปี ๒๕๑๓ ปี ๒๕๑๖ หลวงพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงและได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “ พระโพธิญาณเถร ” ปี ๒๕๑๙ สิ้นเงิน ๕ ล้านบาท ปี ๒๕๒๐ ได้เดินทางไปประกาศสัจธรรมในภาคพื้นยุโรปเป็นครั้งแรกปี ๒๕๒๒ ได้เดินทางไปอังกฤษ อเมริกา คานาดา เพื่อประกาศสัจธรรม เป็นครั้งที่ ๒

ปี ๒๕๒๕ หลวงพ่อชาอาพาธ เป็นโรคเกี่ยวกับสมอง มีอาการเวียนศีรษะความจำเสื่อม จนต้องผ่าตัดสมอง หลังจากการผ่าตัด ท่านไม่สามารถพูดได้เคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องอาศัยพระภิกษุในวัดช่วยปรนนิบัติเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด การบริหารวัดทั้งหมดมอบให้อาจารย์เหลื่อมเป็นผู้รักษาการแทน

หลวงพ่อชาถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๖



วัดหนองป่าพง



วัดหนองป่าพง เป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นสำนักปฎิบัติธรรมที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันสงบเงียบ มีบรรยากาศอันร่มรื่น เหมาะแก่การปฎิบัติธรรม สร้างโดยหลวงพ่อชา สุภทโท หรือ พระโพธิญาณเถระ



ประวัติความเป็นมา

ระหว่างที่มาอยู่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อได้ยึดหลักคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสว่า " ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นที่หลัง จึงจะไม่เป็นบัณฑิตสกปรก" ฉะนั้นไม่ว่าจะทำกิจวัตรอันใด เช่น การกวาดลานวัด จัดที่ฉัน ล้างบาตร นั่งสมาธิ ตักน้ำ ทำวัตร หลวงพ่อจะลงมือทำเป็นตัวอย่างของศิษย์โดยยึดหลักว่า "สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูดพูดเหมือนทำ" ดังนั้นศิษย์ และญาติโยมจึงเกิดความเคารพเลื่อมใสในปฏิปทาที่หลวงพ่อดำเนินอยู่

ศิลปสถาปัตยกรรม
นอกจากจะเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจาย์มั่น ภูริทตโต แล้ววัดหนองป่าพงยังเป็นที่สำคัญด้านสถาปัตยกรรม ผสมผสานระหว่างศิลปะอีสานกับศิลปะร่วมสมัย อาทิ การก่อสร้างโบสถ์ วิหาร พิพิธภัณฑ์ และเจดีย์ที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อชา

โบสถ์วัดหนองป่าพง
เป็นอุโบสถอเนกประสงค์สมัยใหม่ที่เอื้อต่อประโยชน์ใช้สอย พื้นอุโบสถยกลอยจากพื้นดิน เบื้องล่างเป็นถังเก็บน้ำฝนตัดสิ่งประดับฟุ่งเฟื่อย อาทิ ช่อฟ้า ใบระกา ไม่มีผนังประตูหน้าต่าง สามารถจุคนได้จำนวนประมาณ 200 กว่าคน เสาอาคารและผนังประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผา อีสานจากบ้านด่านเกวียนวิหาร เป็นลักษณะศิลปแบบอีสานเรียบง่ายแต่เน้นประโยชน์ใช้สอย สามารถจุประชาชนได้ เป็นนับพันคน

เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงพ่อชา
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมอีสานกับ ล้านช้าง

ความสำคัญต่อชุมชน
วัดหนองป่าพงเป็นต้นแบบของวัดป่ากว่า 100 แห่งในประเทศไทย และอีกหลายแห่งในยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา หลวงพ่อชาเป็นตัวอย่าง ของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แม้จะมีศาสนิกชนมากมายแต่ก็ไม่สร้าง ความแตกแยกให้เกิดนิกาย หรือเข้าไปพัวพันกับการเมืองจนเป็นเรื่อง แตกแยก วัดเน้นความเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ฟุ่งเฟือยหรือสะสม คงความเป็นพุทธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างแท้จริง หน้าที่หลักของ พระสงฆ์ คือ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ อบรมสั่งสอนให้ศาสนิกชนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา

วัดหนองป่าพงมีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ประกอบด้วย โบสถ์ วิหาร พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ กุฏิพยาบาลหลวงพ่อชา กุฎิพระ กุฎิแม่ชี กุฎิหลวงพ่อชา






หลวงปู่มั่น อาจารย์หลวงพ่อชา












หลวงพ่อชา กับ พระฝรั่ง พระฝรั่งรูปแรก ท่านอาจารย์สุเมโท